การใช้เสียงดนตรีรักษาโรคร้าย

listen_to_music

 

ดนตรีคือความรื่นรมย์ของชีวิตคนทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามบนโลกนี้ ถึงกับมีผู้เปรียบว่า เสียงดนตรีคือของขวัญจากสรวงสวรรค์ และดนตรีนี้เองมีผลอันดีที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของคนได้ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นใคร โดยเฉพาะกับผู้ที่เจ็บป่วย เป็นโรคทั้งทางกาย ทางจิตใจดนตรีก็สามารถช่วยรักษา และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นให้ทุเลาดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เริ่มแรกทีเดียวของการนำดนตรีเข้ามาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ถูกบันทึกไว้ว่ากว่า 5000 ปีก่อนดนตรีก็ถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว ในยุคกรีกมีการบันทึกถึงการนำดนตรีเข้ามาเยียวยาบำบัดอาการผู้ป่วยทางจิตเวช ความป่วยที่เกิดขึ้นกับจิตใจนั้นโดยมากเกิดจากความวิตกกังวล ความเศร้าหดหู่ ความกลัว และความเครียด ดนตรีจึงสามารถช่วยผ่อนคลาย และเยียวยาได้โดยตรงแม้ต้องใช้เวลาเพื่อคนป่วยจะดีขึ้นก็ตาม

นอกจากผู้ป่วยในทางจิตเวชแล้วดนตรียังถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ แม้กระทั่งโรคร้ายแรงเช่นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจะมีความรู้สึกเครียด หดหู่ และเศร้าเกี่ยวกับโรคที่ตนเป็นอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังดนตรีก็ทำให้รู้สึกคลายเครียด และผ่อนคลายลงได้ นอกจากนั้นดนตรียังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดซึ่งเกิดจากพยาธิสภาพของโรคมะเร็ง เมื่อผู้ป่วยเจ็บปวดจากอาการของโรคการเปิดดนตรีก็ช่วยลดทอนความรู้สึกเจ็บปวดได้อย่างดี

สำหรับผู้ป่วยทางสมองที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่นผู้ป่วยที่เป็นดาวน์ซินโดรมก็สามารถใช้ดนตรีในการรักษา เมื่อเปิดดนตรีที่เหมาะสมในคลื่นความถี่ที่พอเหมาะ ดนตรีจะไปช่วยกระตุ้นการรับรู้ และพัฒนาการของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมให้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าดีขึ้นได้ด้วย

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต การใช้ดนตรีเป็นตัวช่วยเมื่อต้องทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยก็สามารถฟังดนตรีไปขณะที่ต้องฝึกปรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายในส่วนต่าง ๆ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินในการทำกายภาพบำบัด เกิดความสนุก และผ่อนคลาย เมื่อได้ทดลองเปิดเพลงขณะที่ผู้ป่วยอัมพาตทำกายภาพบำบัดก็ได้รับผลที่น่าพอใจมากมาย เพราะผู้ป่วยสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้ว่าดนตรีจะไม่ใช่ส่วนประกอบใหญ่ที่จะทำให้โรคอัมพาตหายขาดก็ตาม

มีผู้ป่วยอีกประเภทที่พบกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมปัจจุบันก็คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยประเภทนี้มีอยู่มากมาย โดยส่วนมากมักม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ การฟังเพลงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องเป็นเพลงที่คัดสรรมาอย่างดีว่าเหมาะที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะฟัง ควรเป็นเพลงทำนองที่สดใสร่าเริง ฟังแล้วทำให้เกิดอารมณ์ที่ดี อาจจะเป็นเพลงในจังหวะที่สามารถเคลื่อนไหวขยับตามให้เกิดความสนุกสนาน ไม่ควรฟังเพลงที่ทำให้เครียด กดดัน หรือเศร้า

ดนตรีจึงเปรียบเสมือนมธุรสที่มาเยียวยารักษาผู้คนทั้งร่างกายจิตใจ และคงผลชุ่มชื่นไปจนกระทั่งจิตวิญญาณของมนุษย์ แม้แต่คนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคการฟังดนตรีก็ยังความสุขความชื่นใจมาให้เช่นกัน